เทคโนโลยีสารสนเทศคืออะไร
เทคโนโลยีสารสนเทศ
คือเทคโนโลยีในการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานจัดการกับข้อมูล ข่าวสาร
หรือที่เรียกว่าสารสนเทศ ศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นศาสตร์ที่ใหม่มาก
และมีความสำคัญมากในสังคมปัจจุบัน และถือเป็นหนึ่งในสามศาสตร์หลัก
(เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีนาโน เทคโนโลยีชีวภาพ)
ที่ถูกกล่าวว่าจะมีผลต่อสังคมในอนาคตมากที่สุด โดยปัจจุบัน มีผู้กล่าวถึง
เทคโนโลยีสารสนเทศกันอย่างกว้างขวาง โดยเราจะรู้จักกันทั่วไปในชื่อสั้นๆ ว่า ไอที
(IT) รัฐบาลไทยเองก็เล็งเห็นความสำคัญด้านนี้มาก
จึงมีการจัดตั้งกระทรวงใหม่ที่เกี่ยวกับงานทางด้านนี้ขึ้น
ชื่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือเรียกย่อๆ ว่า กระทรวงไอซีที
เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นมีลักษณะเด่น คือ
มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกวัน
เช่น เราจะเห็นว่ามีการใช้อินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย มีการส่งอีเมล์
มีการท่องเว็บต่างๆ มีการส่งข้อมูลผ่านเว็บ มีการเล่นเกมออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต
นอกจากอินเตอร์เน็ตแล้ว ยังมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวกับมือถือ เช่น
มีการส่งข้อมูลผ่านทางมือถือ มีการดาวโหลดข้อมูลต่างๆ รวมทั้งเพลงผ่านมือถือ
มีการสืบค้นข้อมูลหรือเล่นเกมผ่านมือถือ เป็นต้น
ในทางอุตสาหกรรมก็มีการนำระบบสารสนเทศเข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตในโรงงาน
ช่วยควบคุมดูแลเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
และทำให้กระบวนการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้มีการนำสารสนเทศไปใช้ในงานด้านธุรกิจเพื่อทำให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ
โดยสามารถดูข้อมูลต่างๆ ได้ทันทีทั้งข้อมูลที่เป็นรายละเอียดและข้อมูลสรุป
และช่วยในการสนับสนุนการตัดสิน
บริษัทที่ทันสมัยทุกบริษัทต้องมีระบบสารสนเทศภายในองค์กร ในยุคต่อไป
คอมพิวเตอร์จะมีขนาดเล็กลง มีความเร็วสูงขึ้น และมีหน่วยความจำมากขึ้น และที่สำคัญ
ราคาของคอมพิวเตอร์จะถูกลงมาก
ดังนั้นคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทในสังคมของเรามากขึ้น
โดยเราจะเรียกสังคมนี้ว่าสังคมยูบิคิวตัส (Ubiquitous) คือคอมพิวเตอร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง
ดังนั้นการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่เกิดจากคอมพิวเตอร์เหล่านี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
นอกจากนี้การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศภายในบริษัทก็เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าบริษัทหรือองค์กรใหญ่จำเป็นต้องมีหน่วยงานด้านการจัดการระบบสารสนเทศ
ปัจจุบันในโลกของธุรกิจ มีธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศมากมาย ซึ่ง
นักธุรกิจที่ร่ำรวยที่สุดก็คือ นักธุรกิจด้านไอที ซึ่งความจริงนี้แสดงให้เห็นว่า
ไอทีได้เป็นศาสตร์ที่รับความสนใจและมีความสำคัญมากในสังคมปัจจุบันและต่อไปในอนาคต
เทคโนโลยีสารสนเทศเรียนเกี่ยวกับอะไร
ในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จะศึกษาด้านต่างๆ
ที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับข้อมูลข่าวสาร
ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้คือ
1.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ
ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งภาษาที่ศึกษาหลักๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา
ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอส คิวแอล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม
และศึกษาว่ามีโครงสร้างข้อมูลอะไรบ้างที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมทั้งศึกษาว่า
ภาษาที่ใช้ในการโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร
แตกต่างกันอย่างไร และศึกษาวิธีการแปลงภาษาระดับสูงที่มนุษย์เข้าใจ
ไปเป็นภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้
รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนออกแบบระบบ
2.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์
นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร
และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด
และศึกษาว่านอกจากฮาร์ดแวร์แล้วคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีโปรแกรมพื้นฐาน
ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส
รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์
และการนำไมโครโปรเซสเซอร์ไปประยุกต์ใช้งานต่างๆ
และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ
ระบบสมองกลฝังตัวซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น
รถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นต้น
3.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง พื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล
โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค)
การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน รวมทั้งศึกษาถึง
การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต
และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ เครื่องปาล์ม
เป็นต้น
4.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านกราฟิก มัลติเมเดีย
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง การประยุกต์คณิตศาสตร์ไปใช้กับการออกแบบชิ้นงานที่มีรูปร่างต่างๆ
ซึ่งศาสตร์ด้านนี้รู้จักในชื่อของ ซอฟต์แวร์ประเภทแคด/แคม
รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับภาพและเสียง
5.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานที่ชาญฉลาด
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด
หรือศาสตร์ที่ชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์
ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เลียนแบบมนุษย์ เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
ระบบวิเคราะห์ภาพ ระบบวิเคราะห์เสียง เป็นต้น
6.เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
นักศึกษาจะได้ศึกษาถึงระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร
ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี ระบบพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ
และลักษณะการลงทุนด้านธุรกิจไอที
เทคโนโลยีสารสนเทศต่างกับวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างไร
คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ ข้อหนึ่งก็คือ
เทคโนโลยีสารสนเทศต่างกับวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างไร
ที่จริงแล้วสองสาขานี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก
โดยวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นถือกำเนิดมาก่อนเทคโนโลยีสารสนเทศ
และจะเน้นด้านทฤษฏีเป็นหลัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ โครงสร้างของเครื่องคอมพิวเตอร์
หลักการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ การผลิตซอฟต์แวร์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ
การนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานชั้นสูงที่มีความซับซ้อนมาก
จุดเด่นของวิทยาการคอมพิวเตอร์คือ
เน้นศึกษาวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีสมรรถนะที่สูงขึ้น และศึกษาวิธีการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีนั้น
ได้ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เองหลังจากอินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย
โดยเทคโนโลยีสารสนเทศจะเน้นการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นงานด้านธุรกิจ งานด้านการสื่อสาร งานในสายการผลิต งานด้านบริการ
เป็นต้น เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ
เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จุดเด่นของเทคโนโลยีสารสนเทศคือ
เน้นศึกษาวิธีการนำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้งาน จัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ
ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีระบบเคลื่อนที่ เช่น มือถือ
และการจัดการธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับสารสนเทศ
เรียนจบแล้วสามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง
หลังจบสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
นักศึกษาสามารถทำงานหรือศึกษาต่อระดับสูงได้ทั้งที่เป็นด้านเทคนิคและด้าน
การบริหารจัดการ โดยถ้าผู้สำเร็จการศึกษาสนใจด้านการบริหารจัดการนั้น
การเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีข้อได้เปรียบกว่าสาขาอื่นๆ คือ
นักศึกษาจะมีความรู้ในเชิงเทคนิคที่แน่นพอ โดยเฉพาะ
องค์กรเกือบทุกองค์กรในปัจจุบันใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ
ดังนั้นนักศึกษาที่จบจะมีพื้นฐานที่ดีต่อการประกอบอาชีพในบริษัทหรือ
องค์กรที่นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ การจัดการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
นอกจากนี้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมด้านการบริหารจัดการทำให้สามารถ
ทำงานด้านการให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ได้
นักศึกษาที่จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะสามารถทำงานได้ทั้งด้านเทคนิคและด้าน
การบริหารจัดการดังนี้
1.
งานด้านเทคนิคหรืองานผู้เชี่ยวชาญ
ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบสารสนเทศในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และบำรุงรักษาระบบสารสนเทศ
ผู้เขียนโปรแกรมประยุกต์หรือโปรแกรมระบบงาน
หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมอร์
ผู้ออกแบบสร้างและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นระบบสารสนเทศพื้นฐานในทุกองค์กร
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบสารสนเทศอัจฉริยะ
ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรืออะนิเมชั่น
2.
งานด้านการบริหารจัดการหรืองานให้คำปรึกษา
ผู้ประสานงานในโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับระบบสารสนเทศ
ผู้จัดการแผนก ส่วนหรือฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร
ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรต่างๆ
ผู้ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เรียนจบแล้วสามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง
จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว
เราสามารถทำงานได้ในทุกองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศอยู่
ซึ่งในปัจจุบันเกือบทุกองค์กรไม่ว่าที่เป็นของรัฐหรือเอกชน
จะมีระบบสารสนเทศใช้งานอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นที่ต้องการมาก
อย่างไรก็ตามการทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรมีสองประเภท คือ
การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลัก และ
การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่แกนหลัก
ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลักได้แก่
ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขาย ธุรกิจบริการด้านข้อมูลข่าวสาร
ธุรกิจด้านการให้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ระบบอินเตอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายมือถือ
ธุรกิจให้บริการด้านพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ
ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกว่าธุรกิจคอนซัลแตนต์
ธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นแกนหลัก
ได้แก่
ธุรกิจผลิตสินค้าหรือโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการเกษตร
ด้านอาหาร ด้านรถยนต์ ด้านน้ำมัน ด้านไฟฟ้าและพลังงาน ด้านสินค้าอีเล็กทรอนิกส์
ด้านผลิตเครื่องจักรกล ด้านผลิตภาพยนตร์ เป็นต้น
ธุรกิจเชิงบริการ ได้แก่ ด้านการธนาคาร ด้านบัญชี ด้านขนส่ง
ด้านโรงภาพยนตร์ ด้านค้าปลีกหรือร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
เรียนต่อด้านไหนได้บ้าง
จบสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว สามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งทางด้านเทคนิค
และด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจ ทางด้านเทคนิค
ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ
คอมพิวเตอร์โดยตรง เช่น ด้านระบบฐานข้อมูลในองค์กร ด้านเน็ตเวิร์ค
ด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ด้านระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะหรือปัญญาประดิษฐ์
และที่นำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ในงานสาขาอื่น เช่น ด้านสื่อสารมวลชน
ด้านมัลติเมเดีย ด้านอะนิเมชั่น ด้านสารสนเทศเพื่อการแพทย์ ด้านสารสนเทศชีววิทยา
ด้านการสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ทางเคมีและฟิสิกส์ เป็นต้น
ส่วนด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจนั้น
ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถศึกษาต่อด้านการบริหารจัดการหรือเอ็มบีเอ
ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศ
ด้านระบบสารสนเทศเพื่อบริหารงานบัญชี ด้านระบบสารสนเทศเพื่องานบุคคล
ด้านระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร ด้านการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ
เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น